อาการหลับไม่ตื่นในทารก
อาการหลับไม่ตื่นในทารกหรือโรคไหลตายในทารก มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) อาจเรียกว่า Cot Death หรือ Crib Death ซึ่งแปลตามภาษาลำลองว่า การตายจากที่นอนของทารก ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทันเตรียมใจกับการสูญเสียครั้งนี้ เนื่องจากโรคไหลตายในเด็กสามารถเกิดขึ้นในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงและอาจเกิดขึ้นขณะพ่อแม่นำลูกเข้านอนและเมื่อตื่นมาพบว่าปลุกลูกไม่ตื่นอีกเลย เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุและสามารถเกิดได้กับทารกทุกคนและทุกช่วงเวลา โดยทั่วไปแล้วจะเกิดกับทารกที่อายุตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 ขวบ ช่วงเวลาที่เกิดคือเที่ยงถึงสามโมงเช้าของวันใหม่ โรคไหลตายในทารกจะเกิดในทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนประมาณร้อยละ 90 โดยทารกจะไม่ปรากฏอาการใดนำมาก่อน เช่น ร้องงอแงหรือเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นก่อนเสียชีวิต ในประเทศที่กำลังพัฒนาอัตราการเกิดโรคไหลตายในเด็กจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า พบทารกเสียชีวิต 10 คน ในทารกเกิดใหม่ 1000 คน
เกิดจากสาเหตุอะไร ?
ปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค SIDS อย่างแน่ชัด สาเหตุของโรคไหลตายในทารกอาจเกิดจากหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่นพัฒนาการที่ผิดปกติของทารก ความเครียดจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย มีสิ่งกีดขวางอุดทางเดินหายใจขณะนอนหลับ เช่นการให้ทารกนอนคว่ำ อยู่ในสภาพอากาศร้อน ได้รับควันบุหรี่ ขาดอากาศหายใจการกดทับขณะนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ หรืออาจมีวัตถุนิ่มๆ หรือผ้าไปอุดทางเดินหายใจเนื่องจากทารกยังไม่สามารถควบคุมการคลื่นไหวของศีรษะได้ดี ภาวะทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย นอกจากนั้นภาวะการติดเชื้อ โรคทางพันธุกรรมและโรคหัวใจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 80
ในฐานะพ่อแม่เราจะป้องกันทารกน้อยจากอาการดังกล่าวได้อย่างไร ?
เพื่อเป็นการป้องกันการเสียชีวิตของทารกน้อยคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้
ควรให้เด็กทารกนอนหงายหรือนอนตะแคง เพราะทารกจะหายใจนำอากาศเข้าปอดได้ดีกว่าท่านอนคว่ำ ซึ่งแต่เดิมเคยเชื่อว่าการนอนคว่ำจะลดอัตราการสำลักน้ำลายขณะหลับ ควรแยกที่นอนทารกออกจากที่นอนของพ่อแม่ วัสดุรองนอนของทารกต้องแข็งแรงและไม่อ่อนยวบเมื่อวางตัวทารกลงไปเพราะอาจเป็นสาเหตุของการอุดทางเดินหายระหว่างหลับได้ ไม่นำตุ๊กตาหรือของเล่นวางไว้บนที่นอนของทารก การห่มผ้าควรเลือกเฉพาะผ้าห่มที่สามารถหายใจผ่านได้ ไม่ควรใช้ผ้าห่มนวมหนาในการห่มตัวทารก วัสดุที่ใช้กันขอบเตียงควรใช้ผ้าทอรูปร่างคล้ายตาข่ายที่สามารถหายใจผ่านได้สะดวกและห้ามมีรอยต่อระหว่างเตียงนอนของทารกเพราะเด็กอาจพลิกตัวคว่ำหน้าลงไปในรอยต่อนั้นได้
อุณหภูมิของห้องนอนทารกไม่ควรอุ่นหรือเย็นเกินไป เนื่องจากอากาศที่ร้อนทำให้ทารกไม่สบายตัว หายใจลำบากมากขึ้น ส่วนอากาศที่เย็นเกินไปอาจทำให้ทารกป่วยได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับทารกคือ 25-26 องศาเซลเซียส
หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมของควันไฟโดยเฉพาะควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุหลักของการหายใจที่ผิดปกติของทารกอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้หรือหลอดลมตีบเฉียบพลัน
คุณพ่อคุณแม่อาจใช้จุกนมปลอมให้ทารกดูดเพื่อให้ทารกหลับสบายขึ้น เพราะการดูดจุกนมมีส่วนช่วยให้ทารกหายใจได้สม่ำเสมอ
ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถึงแม้ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดว่านมแม่มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไหลตายในทารกได้หรือไม่ แต่การศึกษาวิจัยพบว่านมแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไหลตายในทารกได้ นอกจากนั้นนมแม่ยังอุดมไปด้วยภูมิคุ้มกันจากแม่และเป็นสายใยรักของแม่ส่งผ่านสู่ทารกโดยตรงอีกด้วย
การตายและบาดเจ็บจากเตียงเด็ก (Cribs)
สำนักงานความปลอดภัยในผู้บริโภค (CPSC) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานการบาดเจ็บจากการใช้เตียงเด็กในประเทศสหรัฐอเมริกาถึงปีละกว่าหนึ่งหมื่นราย เป็นการตายประมาณปีละกว่า 20-30 ราย อย่างไรก็ตามก่อนปี 1970 ซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีการควบคุมมาตรฐานของเตียงเด็กเลยพบว่ามีการตายถึงปีละ 150 – 200 ราย
สาเหตุที่สำคัญของการตายคือการติดค้างของศีรษะที่ลอดผ่านซี่ราว (Slat) หรือลอดผ่านรูบนผนังศีรษะและเท้า (Headboard and Footboard) การกดทับใบหน้าจมูกในช่องห่างระหว่างเบาะที่นอนกับราวกันตก การแขวนคอซึ่งเกิดจากเสื้อผ้า สร้อยคอ การตกเตียงลงบนกองผ้า ถุงพลาสติก จนกดทับการหายใจ
เด็กอายุ 2 ปีแรกควรจัดให้นอนเตียงเด็กอย่างถูกวิธีตามนี้ครับ
– เตียงเด็กต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวห่างกันไม่เกิน 6 ซม.
– ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดแน่น เด็กไม่สามารถเหนี่ยวให้เคลื่อนไหวได้เอง ไม่อ้า ไม่เผยอจนเกิดช่องห่างจากเตียงจนลำตัวเด็กลอดตกได้
– เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก
– มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มม.
– ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดร่อง รู
– จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบน ต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 ซม.
– เด็กอายุ 2 ปีหรือความสูงเกินกว่า 89 ซม.มีความเสี่ยงต่อการปีนราวกันตกและตกจากที่สูงได้ พ่อแม่ต้องระวัง
ถึงแม้ว่าโรค SIDS จะเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่น่ากลัว แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่จัดการนอนให้ปลอดภัย ก็จะสามารถป้องกันและลดอันตราเสี่ยงของการตายเฉียบพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุได้
แหล่งที่มา :
Caraballo M, Shimasaki S, Johnston K, Tung G, Albright K, Halbower AC. Knowledge, Attitudes, and Risk for Sudden Unexpected Infant Death in Children of Adolescent Mothers: A Qualitative Study. The Journal of pediatrics. 2016.
Cullen D, Vodde CR, Williams KJ, Stiffler D, Luna G. Infant Co-Bedding: Practices and Teaching Strategies. Journal for specialists in pediatric nursing : JSPN. 2016;21(2):54-63.
Erck Lambert AB, Parks SE, Camperlengo L, Cottengim C, Anderson RL, Covington TM, et al. Death Scene Investigation and Autopsy Practices in Sudden Unexpected Infant Deaths. The Journal of pediatrics. 2016.
Sarquella-Brugada G, Campuzano O, Cesar S, Iglesias A, Fernandez A, Brugada J, et al. Sudden infant death syndrome caused by cardiac arrhythmias: only a matter of genes encoding ion channels? International journal of legal medicine. 2016;130(2):415-20.
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/315/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81
http://th.theasianparent.com
http://www.rakluke.com/clinic-rakluke/
http://www.ahlulbait.org/main/content.php?category=9&id=1670
http://allmomsclub.blogspot.com/2015/11/blog-post_56.html
https://medicalxpress.com/news/2013-07-overnights-home-affect-children.html
Photo Credit: https://www.inquisitr.com/3637538/sids-american-academy-of-pediatrics-releases-new-guidelines-to-prevent-sudden-infant-death-syndrome/